วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันครู

ประวัติ ความเป็นมาของ วันครู


ความหมาย

ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน; ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ ความเป็นมา
วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้

การจัดงานวันครู






การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครู จะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้


1. กิจกรรมทางศาสนา
2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้

รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์
คำปฏิญาณตนของครู
ข้อ 1. ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ 2. ข้อจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ 3. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็น
คุณสมบัติของครูที่ดี
1. ประพฤติตัวให้เป็นที่รัก (ปิโย)
2. มีใจหนักแน่นทำตนให้น่ายำเกรง (ครุ)
3. อบรมตนเองสม่ำเสมอ (ภาวนีโย)
4. ฉลาดสอน ฉลาดพูด (วตฺตา)
5. อดทนต่อถ้อยคำล่วงเกิน (วจนกฺขโม)
6. พูดเรื่องลึกซึ้งให้เข้าใจลึกซึ้งได้ (คมฺภีรํ กถํ กตฺตา)
7. ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสียหาย (โน จฎฺฐาเน นิโยชเย)





ประโยชน์ต่อสังคม
นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู

๑. เลื่อมใสการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
๒. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
๓. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือ ทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
๔. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
๕. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของ ผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงาน โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
๖. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
๗. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตนและไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน
๘. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
๙. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
๑๐. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

เพลงพระคุณที่สาม
คำร้อง / ทำนอง ครูอร่าม ขาวสะอาด

ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้
อบรมจิตใจให้รู้ผิดชอบชั่วดี
ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที
ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น
ครูมีบุญคุณจะต้องเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า
ท่านสั่งสอนเราอบรมให้เราไม่เว้น
ท่านอุทิศไม่คิดถึงความยากเย็น
สอนให้รู้จัดเจนเฝ้าแนะเฝ้าเน้นมิได้อำพราง
* พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส
แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง
ถ้าหากจะคิดยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง
มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู
บุญเคยทำมาตั้งแต่ปางใดเรายกให้ท่าน
ตั้งใจกราบกรานเคารพคุณท่านกตัญญู
โรคและภัยอย่ามาแผ้วพานคุณครู
ขอกุศลผลบุญค้ำชูให้ครูเป็นสุขชั่วนิรันดร


คาถา ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุตฺตรานุสาสกา (วสันตดิลกฉันท์)

ข้าขอประณตน้อมสักการ บุรพคณาจารย์
ผู้ก่อประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทย เทอญฯ


ข้าขอประนมกรกระพุ่มอภิวาทนาการกราบคุณอดุลคุรุประทานหิตเทิดทวีสรรสิ่งสมอุดมคติประพฤตินรยึดประคองธรรม์ครูชี้วิถีทุษอนันต์อนุสาสน์ประภาษสอนให้เรืองและเปรื่องปริวิชานนะตระการสถาพรท่านแจ้งแสดงนิติบวรดนุยลอุบลสารโอบเอื้อและเจือคุณวิจิตรทะนุศิษย์นิรันดร์กาลไป่เบื่อก็เพื่อดรุณชาญลุฉลาดประสาทสรรพ์บาปบุญก็สุนทรแถลงธุระแจงประจักษ์แจ้งครันเพื่อศิษย์สฤษดิ์คติจรัลมนเทิดผดุงธรรมปวงข้าประดานิกรศิษย์(ษ)ยะคิดระลึกคำด้วยสัตย์สะพัดกมลนำอนุสรณ์เผดียงคุณโปรดอวยสุพิธพรเอนกอดิเรกเพราะแรงบุญส่งเสริมเฉลิมพหุลสุนทรศิษย์เสมอเทอญ ฯ


ประโยชน์ของการไหว้ครู
หากการแสดงคุณธรรมด้วยการไหว้ไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว ประเพณีน่าจะเลิกกันเสียที แต่ที่ต้องไหว้กันอยู่ประจำทุกปี ทุกโรงเรียน แสดงว่าต้องมีประโยชน์ ประโยชน์ของการไหว้ คือ
1. ผู้ไหว้ได้รับความเมตตาจากผู้ถูกไหว้
2. ผู้ไหว้ได้รับความสบายใจ
3. ช่วยให้ผู้ถูกไหว้หันมาสำรวจตรวจตาพัฒนาตนเอง
4. ได้รักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยไว้
5. บรรเทาโทษเสียได้
โบราณท่านกล่าวว่า "ศรต้องมีพิษ ศิษย์ต้องมีครู ศิษย์มีครูเหมือนงูมีพิษ ศิษย์ไม่มีครู เหมือนงูไม่มีพิษ" ไม่น่ากลัวอะไร ไม่ต่างอะไรกับปลาไหล รอเวลาให้เขาผัดเผ็ดเท่านั้น "ศิษย์ดีต้องมีคุณธรรม ศิษย์ไม่ได้ความคุณธรรมไม่มี" นักเรียนจะต้องรู้จักข้าว ข้าวรวงโตที่มีวิตามิน เวลามันออกรวง จะน้อมรวงถ่วงยอดแสดงอาการดุจคารวะแม่พระธรณี แต่ข้าวรวงใดที่ชี้เด่แทบจะทิ่มก้นเทวดา แสดงว่าข้าวรวงนั้นไม่มีวิตามิน เป็นข้าวขี้ลีบ คนก็เหมือนกัน หากรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แสดงว่าเป็นคนมีคุณภาพเป็นผู้มีคุณธรรม บางคนเป็นโรคสันหลังแข็งก้มไม่ลง บุคคลนั้นไม่ต่างอะไรกับข้าวขี้ลีบ
พิธีไหว้ครู
พิธีไหว้ครู หรือ การไหว้ครู มีหลายอย่าง เช่น การไหว้ครูนาฏศิลป์ไหว้ครูดนตรี ไหว้ครูโหราศาสตร์ ไหว้ครูแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไป เมื่อเอ่ยถึง พิธีไหว้ครู เรามักจะหมายถึง การไหว้ครูในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในช่วงเปิดภาคการศึกษา การไหว้ครู เป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพและระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต โดยทั่วไป พิธีไหว้ครูมักจะจัดในวันพฤหัสบดี ด้วยถือว่าพระพฤหัสเป็นเทพที่ส่งเสริมวิทยาการและความเฉลียวฉลาด ซึ่งเป็นคุณสมบัติของครู จึงถือเอาวันนี้เป็นวันไหว้ครู เพื่อความเป็นสิริมงคล
คำปฏิญาณตน
เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เรานักเรียนจักต้องประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน
มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
เรานักเรียนจักต้องปฏิบัติตนไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น


สิ่งที่ต้องเตรียมในการไหว้ครู
การไหว้ครู ในอดีตนั้น มักจะใช้ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ และดอกเข็ม เป็นองค์ประกอบในพานดอกไม้แต่ละอย่างล้วนเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น
- หญ้าแพรก เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเข้มแข็ง อดทนถึงแม้จะแห้งแล้ง คนเดินเหยียบย่ำ หญ้าแพรกก็จะไม่ตาย พอได้รับโอกาสที่เหมาะสม ได้รับความชุมชื้น ก็จะแตกยอดเจริญงอกงามเป็นอย่างดี ครูจึงต้องเป็นผู้ที่เข้มแข็งอดทนต่อปัญหาต่าง ๆ ของนักเรียนนักศึกษามากมาย และค่อย ๆสะท้อนปลูกฝังความมุ่งมั่นอดทน เข้มแข็งไปสู่นิสัยของนักเรียน นักศึกษา ฝึกให้เขาเข้มแข็งอดทนให้จงได้
-ข้าวตอก เป็นข้าวที่เกิดจากการใช้เมล็ดข้าสารไปคั่ว โดยมีฝาครอบไว้ เมื่อได้รับความร้อนระดับหนึ่ง เมล็ดข้าวก็จะพองตัวและแตกตัวออกเป็นข้าวตอก มีกลิ่นหอม เช่นเดียวกับการให้การศึกษา ครูผู้สอนต้องให้การอบรมคู่กันไปด้วย "อบเพื่อให้สุกรมเพื่อให้หอม" เช่นเดียวกับการทำข้าวตอก
การสั่งสอนอบรมของครู บางครั้งต้องมีการว่ากล่าวตักเตือน ติติงหรือทำโทษ ในการกระทำที่ไม่เหมาะสมเสมือนการใช้ความร้อนกับเมล็ดข้าว โดยมีกฏระเบียบหรือแนวปฏิบัติ เสมือนเป็นฝาครอบ ไม่ให้ลูกศิษย์กระเด็นกระดอนออกนอกลู่นอกทาง ครูจึงต้องทำหน้าที่สั่งสอนอบรมให้นักเรียน นักสึกษาเป็นดังเช่นข้าวตอก คือ "สุกและหอม" ซึ่งหมายถึง การสั่งสอนแนะนำให้เขามีความรู้ความสามารถและเป็นคนดีที่ยอมรับนั่นเอง
- ดอกมะเขือ ลักษณะของดอกมะเขือ เวลาบานจะสีขาวสะอาดและดอกจะโน้มคว่ำลงพื้นดินซึ่งก็เป็นปริศนาธรรม แสดงถึงความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตใจ เป็นคนซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ
- ดอกเข็ม ลักษณะของดอกเข็มจะมียอดดอกแหลม ซึ่งเป็นปริศนาธรรมว่า ครูต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความคิด ให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนฉลาด(หัวแหลม) รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ ใช้ความคิดให้เป็นประโยชน์แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่พบเห็น ความเฉียบคมทางความคิดจะทะลุทะลวงทุกปัญหาได้
คนโบราณช่างชาญฉลาดที่จะสอนศิษย์ด้วยกลวิธีต่าง ๆ แม้กระทั่งการใช้ดอกไม้ต้นไม้ ฯลฯ เป็นสื่อการสอนทำให้ลูกศิษย์ให้ยุคก่อนเก่าได้เรียนรู้จากธรรมชาติ และรู้จักกตัญญูรู้คุณผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์อยู่ตลอดไป และการที่เราใช้ "หญ้าแพรกดอกมะเขือ" ในการไหว้ครูนั้น เพราะเป็นของหาง่าย งอกงามอยู่ทั่วไป
ตอนเช้าตรู่วันพฤหัสซึ่งเป็นวันไหว้ครู เด็กๆจะไปโรงเรียนเช้าเป็นพิเศษ เพื่อ่ไปช่วยกันจัดพานดอกไม้ ซึ่งอาจมีการปักดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบบ้าน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขือ พานดอกไม้นี้เด็กนักเรียนหญิงจะเป็นคนถือ ส่วนเด็กผู้ชายจะถือธูปเทียนและช่อดอกไม้ ( ช่อดอกไม้หมายถึงดอกไม้ที่หาได้เอามารวมกัน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขือเช่นกัน)
พิธีไหว้ครูจึงเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่นักเรียนทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันมาแสดงความเคารพและระลึกบุญคุณของครูอาจารย์อย่างแท้

ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น